ที่มาของผลงานนวัตกรรม
การเพาะเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในปัจจุบัน เกษตรกรพบปัญหาอัตราการรอดที่ต่ำมากในปลาขนาด 50-100 กรัม หรือเรียกว่า “ปลานิ้ว”
และอัตราการรอดเพียงแค่ร้อยละ 60 ในขนาดปลา 100 กรัมขึ้นไปจนถึง ขนาดจับขาย คือประมาณ 800-1,000 กรัม ลักษณะของการตายมีรูปแบบต่างๆ เช่น ว่ายน้ำผิดปกติ ตาโปน มีรอยเลือดออกใต้ผิวหนัง แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือไม่แสดงลักษณะอาการและไม่มีการลอยตัวตาย แต่เมื่อจับปลาจะพบอัตรารอดเพียงร้อยละ 30-40 และบางตัวยังคงมีร่องรอยของโรค มีลักษณะไม่น่ารับประทานทำให้ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากผลผลิตปลานิลและปลาทับทิมจะส่งไปภัตตาคารอาหารมากที่สุดร้อยละ 65 ส่วนที่เหลือจะเป็นลักษณะค้าปลีก ดังนั้นจึงส่งผลกระทบในการเพิ่มต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าอาหารเสริมโพรไบโอติก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปลาให้อยู่รอด โดยเมื่อตรวจโรคในปลานิลและปลาทับทิมพบเชื้อก่อโรคที่สำคัญทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ Streptococcus agalactiae, Streptococcus iniae, และ Francisellanoatunensis subsp. Orientalis (syn. F. asiatica) ด้วยเทคนิค PCR ซึ่งมีความไว ความแม่นยำ และใช้กันอย่างแพร่หลายในห้องปฏิบัติการ

ความร่วมมือที่แสวงหา
- เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ

รายละเอียดของนวัตกรรม
ชุดตรวจโรคโรคสเตรปโตคอคโคซิสในปลานิลและทับทิม แบบง่ายและรวดเร็ว ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี ของเชื้อก่อโรค Streptococcus agalactiae และ Streptococcus iniae ที่มีความจำเพาะ รวดเร็ว ราคาถูก ซึ่งประกอบไปด้วยหลอดทดลองที่มีสารปฏิกิริยาแลมป์ในรูปแบบผง พร้อมทั้งตัวควบคุมบวกในการแยกตรวจ หาเชื้อก่อโรคแต่ละชนิด น้ำยาสกัดดีเอ็นเอแบบง่าย ในการสกัดสารดีเอ็นเอนั้น ใช้เวลาประมาณ
10 นาที สามารถใช้เนื้อเยื่อขนาด 1 เซนติเมตร หรือปริมาณ 50 มิลลิกรัม หรือไข่ปลา จำนวน 5 ใบ ต่อตัวอย่าง หรือลูกปลาขนาดอายุตั้งแต่ 10 วัน จำนวน 5 ตัว ต่อตัวอย่าง จากนั้นทำการเจือจางดีเอ็นเอเพื่อนำไปทดสอบด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี ในส่วนของปฏิกิริยาแลมป์แบบผงนำมาละลายด้วยน้ำยาทดสอบ จะเห็นเป็นสารละลายสีม่วง และผสมสารละลายดีเอ็นเอลงแต่ในหลอดทดลอง แล้วนำไปอุ่นในกล่องให้ความร้อนอ่างน้ำร้อน ที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที และอ่านผลทดสอบด้วยตาเปล่า ถ้าในตัวอย่างมีการติดเชื้อ จะมีการเปลี่ยนสีจากม่วงเป็นฟ้า ในขณะที่ตัวอย่างไม่มีการติดเชื้อสารละลายยังคงเป็นสีม่วงตามเดิม

สถานที่เยี่ยมชมนวัตกรรม
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี สวทช.

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ชื่อผู้ประดิษฐ์/ออกแบบ
- ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย

• ย่านนวัตกรรมที่สังกัด
นวัตกรรมภาพรวมของไทย
• อุตสาหกรรมเป้าหมาย
1. นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์
• หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

-

• คำสำคัญ (Keyword)
ชุดตรวจ
ปลาทับทิม
ปลานิล